วันพุธที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ประวัติศูนย์ผลิตตุ๊กตาเชียงใหม่


พิพิธภัณฑ์ นับเป็นแหล่งเรียนรู้ที่รวบรวมสิ่งต่างๆ บ่งบอกถึงความเป็นมาในอดีต อีกทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เปิดโอกาสให้กับนักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจเรื่องงานศิลปะ โบราณวัตถุ เครื่องแต่งกาย วิถีชีวิตของผู้คนในอดีต เข้ามาศึกษาหาความรู้

พิพิธภัณฑ์ตุ๊กตา จัดเป็นพิพิธภัณฑ์เอกชน(พิพิธภัณฑ์เฉพาะเรื่อง) เป็นแหล่งความรู้แห่งหนึ่ง จัดแสดงตุ๊กตาในเครื่องแต่งกาย เช่นการแต่งกายของโขน – ละครนาฎศิลป์ ให้ความรู้เรื่องวัฒนธรรมการแต่งกายของกลุ่มชนต่างๆ ในประเทศไทย รวมถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนทุกภาค และวัฒนธรรมการแต่งกายนานาชาติ ทั้งในเอเชีย, ยุโรป, อเมริกา, ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ถ่ายทอดออกมาในรูปแบบการประดิษฐ์ตุ๊กตาซึ่งแต่งกายตามแบบต่างๆ
พิพิธภัณฑ์ตุ๊กตา ถือเป็นสมบัติของคนทุกคนที่จะร่วมกันรักษา และหวงแหน เพื่อให้เป็นสถานที่ของคนทุกคน ที่จะสามารถเข้าเยี่ยมชมศึกษา ค้นคว้าหาความรู้ ค้นหาอดีต และการย้อนอดีตกับสิ่งที่สูญหาย ซึ่งทุกคนสามารถเข้าชมได้

ความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาเชียงใหม่พิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาเชียงใหม่ เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ 2509 โดยคุณยุทธนา บุญประคอง ได้เห็นตุ๊กตาแต่งชุดประจำชาติของประเทศเวียดนามตัวหนึ่ง ที่คุณพ่อของเขาซื้อมาฝากคุณแม่ คุณยุทธนาเห็นตุ๊กตาตัวนี้ก็เข้าใจเลยว่าเป็นตุ๊กตาของประเทศเวียดนาม เพราะการแต่งกายของตุ๊กตาบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของประเทศนั้นๆ ได้ และยังถือว่าตุ๊กตานั้นเปรียบเสมือนฑูตสันถวะไมตรีตัวเล็กๆ ประจำชาติ จึงได้คิดจัดทำพิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาขึ้นมา เพื่อการศึกษาและเป็นตุ๊กตาต้นแบบในการผลิตตุ๊กตาของศูนย์ผลิตตุ๊กตาเชียงใหม่

ส่วนจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาเชียงใหม่
ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาเชียงใหม่ มีการจัดแสดงโดยแบ่งอาคารไม้เป็นส่วนๆ มีชื่อเรียกเป็นเรือนต่างๆ แบ่งเป็น 4 เรือนหลักดังนี้


      เรือนชโลบล เป็นอาคารไม้สักห้องโถงกว้าง ภายในจัดแสดงตุ๊กตานานาชาติ ตุ๊กตาการแต่งกายโขนละคร, หุ่นกระบอก, วิถีชีวิตคนไทยสี่ภาค, การละเล่นของเด็กไทย และตุ๊กตาที่แต่งกายตามการออกแบบสมัยใหม่..

      เรือนปุณณภา เป็นอาคารที่สร้างด้วยไม้สัก ใต้ถุนโล่ง อาคารมีลักษณะรูปตัวแอล(L) เป็นสถานที่จัดแสดงเสื้อผ้า, เครื่องประดับของกลุ่มชนในประเทศไทย เช่น ไทเขิน, ไทลื้อ และไทยอง รวมทั้งชาวเขาเผ่าต่างๆ อาทิเช่น เย้า, ลีซอ, อีก้อ, แม้ว, กระเหรี่ยง, ลาหู่ ฯลฯ เพื่อเข้าใจในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมการนุ่งห่มของแต่ละกลุ่มชน..

      เรือนเสฏฐวุฒิ เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนา จัดแสดงเอกลักษณ์ของความเป็นอยู่ของชาวล้านนาในอดีตภายในเรือนนอน และภายในเรือนครัว ได้มีการจำลองการจัดสำรับอาหารที่เรียกว่า “ขันโตก”

      เรือนคำ เป็นเรือนจำหน่ายสินค้าและของที่ระลึกต่างๆ เป็นต้นว่า ตุ๊กตาแห่งโชคลาภ อาทิเช่น ตุ๊กตาน้องมารวย, ตุ๊กตาน้องเศรษฐี, ตุ๊กตาน้องมั่งมี เป็นต้น รวมถึงตุ๊กตาไทย, ตุ๊กตาชาวเขา และตุ๊กตานานาชาติ ซึ่งได้รับรางวัล OTOP ระดับ 5 ดาว ผลิตภัณฑ์โดดเด่นคือตุ๊กตาชาวเขาทำจากผ้าสำหรับเป็นของที่ระลึก นอกจากนี้ยังผลิตตุ๊กตาพอซเลนทุกรูปแบบ ด้วยประสบการณ์กว่า 20 ปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น